ประวัติ ของ แคโรไลน์ น็อกซ์

ชีวิตช่วงต้น

แคโรไลน์เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2400 เป็นบุตรคนที่สองของโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (Thomas George Knox) กงสุลใหญ่ชาวสหราชอาณาจักรประจำกรุงสยาม กับปราง[1] ภรรยาเชื้อสายทวายที่ได้รับพระราชทานจากวังหน้า[2] แม้จะสมรสชาวตะวันตกไปแล้วแต่ปรางยังคงนับถือศาสนาพุทธ[3] แคโรไลน์มีพี่สาวคือ แฟนนี น็อกซ์ (ต่อมาเป็นภรรยาพระปรีชากลการ) และน้องชายชื่อ ทอมัส น็อกซ์

บิดา-มารดาให้บุตรสาวคนโตคือแฟนนี ซึ่งมีผิวขาวผ่อง อุปนิสัยร่าเริง มีรูปพรรณสวยงามอย่างฝรั่ง ใช้ชีวิตอย่างชาวตะวันตก ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับแผ่นดินสยามก็เป็นสาวสะพรั่งเต็มตัว[4] ขณะที่แคโรไลน์ผู้น้องให้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เธอมีดวงหน้าคมคายอย่างชาวสยาม คือมีคิ้วหนา ผมดำ จมูกโด่ง มีผิวกายขาว และมีอุปนิสัยเงียบ ๆ ไม่ค่อยออกงานกับผู้ชายอย่างออกหน้า หรือมีชีวิตโลดโผนเท่า[5] แคโรไลน์มีนามในภาษาสยามว่า ดวงแข[6] ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่า "...แต่คนเล็กนั้นอยู่ที่กรุงนี้ เป็นฝรั่งครึ่งหนึ่งไทยครึ่งหนึ่ง รูปพรรณสัณฐานเป็นไทยมาก..."[7]

ทอมัส ยอร์ช น็อกซ์ ซึ่งเคยรับราชการเป็นนายทหารรับราชการอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรประจำกรุงเทพฯ ครอบครัวของท่านรวมทั้งภรรยาและบุตรีล้วนสนิทสมาคมกันกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งน็อกซ์เต็มใจที่จะยกแคโรไลน์ขึ้นถวายเป็นบาทบริจาริกาแก่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ[7] บางแห่งก็ว่าบิดาเคยถวายตัวให้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญไปแล้ว[8] เพราะมีพฤติกรรมที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ระบุว่า "...ไปมานอนค้างอยู่ในวัง จนคนว่ากงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน แต่พูดกันแต่ไทย ๆ คนฝรั่งไม่พูด..."[7] ซึ่งเล่ากันว่าคุณปราง ผู้มารดา เคยวาดฝันไว้ว่า "...ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย..."[9] แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงรับสั่งว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น เท็จจริงอย่างไรไม่เป็นที่แจ้งชัด[10]

สมรส

แคโรไลน์สมรสกับหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ (หรือ มิตซ่าหลุย) บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาถวายงานเป็นพระอาจารย์ในราชสำนักสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2405–2410 ซึ่งหลุยส์เดินทางกลับเข้ากรุงสยามเพื่อทำการค้าไม้สักทางภาคเหนือของสยาม พิธีสมรสถูกจัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2427[11] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันสองคน คือ[12]

  1. ทอมัส "จอร์จ" น็อกซ์ ลีโอโนเวนส์ (พ.ศ. 2431–2496) เขามีบุตรสองคน คือ หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ อาศัยอยู่ที่ประเทศกัวเตมาลา กับเคนเนท ลีโอโนเวนส์ อาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา
  2. แอนนา แฮร์เรียต โมนาแฮน (เกิด พ.ศ. 2433) สมรสกับริชาร์ด โมนาแฮน อาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา[13]

ในจดหมายของเอวิส ฟิช พี่สาวของหลุยส์ที่เขียนถึงเพื่อนคนหนึ่ง มีเนื้อหากล่าวถึงแคโรไลน์ น้องสะใภ้ของตนไว้ ความว่า "...เรามีภาพประทับใจจากจดหมายของแคโรลีนว่า เธอคงเป็นสตรีที่อ่อนโยนน่าค้นหา ภาษาอังกฤษของเธอก็ไม่มีที่ติทั้ง ๆ ที่เกิดและโตในสยาม แม่รู้สึกสบายใจที่หลุยส์ทำท่าจะปักหลักอยู่บริษัทบอร์เนียว โดยที่ไม่คิดจะร่อนเร่ไปเรื่อย ๆ แบบแต่ก่อน..."[3] และในระหว่างที่หลุยส์ทำงานอยู่ในภาคเหนือและใช้ชีวิตกับบรรดาอนุภรรยาหลายต่อหลายคนร่วมกันในบ้านของนายแพทย์แมเรียน อาลอนโซ ชีก (หรือ หมอชิต) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ย่านหลังวัดมหาวัน ขณะที่แคโรไลน์ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับลูก ๆ ในกรุงเทพฯ ต่อไป ด้วยยังยึดมั่นในรักของสามี[14]

เสียชีวิต

แคโรไลน์พาลูก ๆ มาเยี่ยมหลุยส์ที่เชียงใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งหลุยส์ก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จนเป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวบ้านเรื่องความโรแมนติก ทว่าแคโรไลน์เริ่มสำแดงอาการป่วยกระเสาะกระแสะให้เห็นอยู่เนือง ๆ นายแพทย์แมเรียน อาลอนโซ ชีก วิเคราะห์อาการป่วยจึงพบว่าเธอป่วยเป็นโรคไตและส่งเธอกลับไปรักษาที่กรุงเทพฯ อย่างเหมาะสมต่อไป[15] หลังแคโรไลน์เดินทางกลับจากภาคเหนือ เข้าพักที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเพียงไม่กี่วันก็มีอาการปวดท้อง หลุยส์ให้ให้แพทย์ชาวอังกฤษทำการรักษาหลายคนแต่อาการไม่ดีขึ้น[12] หลังจากนั้นมีจดหมายถึงหลุยส์ ระบุว่า "...เหลือเวลาอีกเพียงสองสามสัปดาห์เท่านั้น สำหรับชีวิตอันงดงามของเธอ"[16] หลุยส์รีบเดินทางออกจากเชียงใหม่ล่องไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 โดยใช้เวลาเพียงสิบกว่าวัน ขณะนั้นมีการผ่าตัดแคโรไลน์ที่หน้าท้อง ทว่าหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น แคโรไลน์ก็มีอาการปอดบวมและถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2436 เมื่ออายุได้ 35 ปี[12] เขาไปทันดูใจภรรยาก่อนจากกันชั่วนิรันดร์ ร่างของเธอถูกฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ หรือป่าช้าฝรั่ง กรุงเทพมหานคร[17]

ใกล้เคียง

แคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ น็อกซ์ แคโรไลน์ อเมลีแห่งออกัสเตนบวร์ค แคโรไลน์แห่งเบราน์ชไวก์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร แคโรไลน์แห่งอันสบาค สมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ ออกัสตา แห่งบาวาเรีย แคโรไลนา (ชื่อ)